ถึงแม้ว่าการติดตั้งโซล่าเซลล์จะสามารถติดตั้งกับหลังคาส่วนใหญ่ได้ทุกแบบ แต่การตรวจสอบความเหมาะสมของหลังคา จะช่วยให้การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เป็นไปอย่างเหมาะสมและไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ในวันนี้ Electronmove จะแนะนำเกี่ยวกับคุณสมบัติของหลังคาที่เหมาะสมต่อการติดตั้ง Solar Rooftop โดยมีสิ่งที่ควรพิจารณาดังนี้
ทิศทางของหลังคา
หลังคาควรที่หันทางทิศใต้ ซึ่งจะเป็นทิศที่เหมาะสมที่สุดในการติดตั้งโซล่าเซลล์สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเป็นด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุดของวัน แต่อย่างไรก็ตาม การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการด้วยเช่นกัน
ระยะองศา
การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมควรอยู่ที่มุมเอียงระหว่าง 15 – 40 องศา ถึงแม้ว่าหลังคาของคุณจะเป็นแบบหลังคาทรงแบน แต่ถ้าติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้มุมองศาที่กำหนด จะช่วยให้โซล่าเซลล์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ขนาดและรูปร่าง
การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์นั้น รูปร่างและขนาดของหลังคาเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งหลังคาที่เหมาะสมกับการติดโซล่าเซลล์มากที่สุด คือ หลังคาที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นที่กว้าง หลังคาที่มีรูปทรงอื่นอาจทำให้พื้นที่ในการติดตั้งน้อยลง และหลังติดตั้งต้องมีที่ว่างอย่างน้อย 20% เพื่อความสะดวกในการบำรุงรักษา
หลังคาไม่ควรมีเงามาบดบังหรือตกกระทบ
สำรวจทิศทางของเงาที่ตกกระทบลงมาบดบังตรงบริเวณที่ต้องการติดโซล่าเซลล์ ถ้ามีเงาของต้นไม้หรือตึกสูงบังบริเวณที่หลังคา อาจทำให้โซล่าเซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เต็มที่
สภาพอายุการใช้งานของหลังคา
หลังคาต้องรองรับน้ำหนักได้ 50 กิโลกรัม/ตารางเมตร สำหรับอุปกรณ์การติดตั้งและแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปีหลังจากติดตั้ง ดังนั้นก่อนการติดตั้ง ควรให้วิศวกรตรวจสอบสภาพของหลังคาว่ายังเหมาะสมอยู่หรือไม่ และจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงในอนาคตอันใกล้หรือยัง หากว่าสภาพยังดีและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุง ก็สามารถติดตั้งได้
ชนิดของวัสดุหลังคา
แผงโซล่าเซลล์สามารถติดตั้งได้บนวัสดุเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ไม้ กระเบื้อง ซีเมนต์ หินชนวน โลหะ และอื่นๆอีกหลายประเภท แต่ข้อควรระวังเมื่อติดตั้งบนวัสดุที่แตกหักง่าย ควรทดสอบความแข็งแรงก่อนติดตั้งทุกครั้งเพื่อป้องกันความเสียหายขณะติดตั้ง
ตัวอย่างแบบหลังคาบ้าน เลือกแบบไหนดีให้เหมาะกับ Solar rooftop
หลังคาทรงจั่ว
หลังคาบ้านทรงจั่ว (Gable Roof) มีลักษณะเป็นหน้าจั่วสามเหลี่ยมทอดยาวลงมาตลอดตัวหลังคา เป็นประเภทหลังคาที่ได้รับความนิยม โดยมาพร้อมรูปทรงมาตรฐานที่เหมาะกับแบบบ้านทั่วไป ใช้ได้กับทุกภูมิภาค โดยหลังคาทั้งสองด้านจะลาดเอียงทั้งสองด้านชนกันที่ปลายสุดด้านบนหลังคา เหมาะกับบ้านสไตล์ร่วมสมัยทั่วไปหรือบ้านสไตล์โมเดิร์น
หลังคาทรงปั้นหยา
หลังคาทรงปั้นหยา (Hip Roof) โดยมีลักษณะครอบคลุมทุกทิศทาง มีมุมลาดเอียงน้อยกว่าหลังคาทรงจั่ว แต่มีลักษณะเด่นที่จุดยอดของแต่ละด้านเป็นทรงเหลี่ยมหันพิงเข้าหากัน เป็นอีกหนึ่งประเภทหลังคาบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งเข้าได้เกือบทุกสไตล์ของการออกแบบบ้าน โดยนำมาปรับใช้ได้กับบ้านหลายแบบ เช่น บ้านสไตล์โมเดิร์น บ้านทรงไทยประยุกต์
หลังคาทรงแบน
หลังคาทรงแบน (Flat Roof) หรือหลังคาเปลือย มีลักษณะเป็นพื้นที่แบนราบอยู่ในระนาบเดียวกัน เป็นหลังคาบ้านที่มาพร้อมรูปแบบที่มีความโมเดิร์นและทันสมัย นิยมใช้กับบ้านที่เป็นทาวน์โฮม หรือทาวน์เฮาส์ หรือบ้านสไตล์โมเดิร์นที่เน้นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงบ้านสไตล์ทรอปิคอลโมเดิร์น
หลังคาทรงเพิงแหงน
หลังคาทรงเพิงแหงน (Lean-to Roof) เป็นหลังคาที่ปรับให้เรียบเอียงไปเพียงด้านเดียว มักมีชายคายื่นออกมาช่วยบังแดดบังฝน นิยมใช้กับบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ออกแบบเป็นทรงเหลี่ยม ช่วยให้ภาพรวมของบ้านดู สมาร์ท แต่เรียบง่าย ดูสวยงามลงตัว โดยหลังคาบ้านชนิดนี้นำไปปรับใช้กับบ้านสไตล์อื่นอย่างบ้านสไตล์โมเดิร์นอีกด้วย